จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

วันพฤหัสบดีที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2555


มองศิลป์: Alone

ความเปลี่ยวเหงาในห้องสีเทาหม่น
ภาพวาดสีน้ำมัน Blooming No.8 สะท้อนความรู้สึกหม่นหมองและความเย็นชาในห้องสีเทา

บ่อยครั้งที่เราเห็นภาพแนวเซ็กซี่ของหญิง วัยรุ่นในสังคมออนไลน์ ไม่ว่าเธอต้องการจะสื่ออะไรในรูป แต่ลึกๆ แล้วเธอต้องการเรียกร้องความสนใจโดยการหาพื้นที่ให้ตัวตนได้ยืนในสังคม เพื่อให้ได้รับรู้ถึงความมี ‘ชีวิต’ ของเธอ นิทรรศการศิลปะ Alone โดยอัมรินทร์ บุพศิริ สะท้อนถึงความว่างเปล่า เปลี่ยวเหงา ไร้แก่นสาร และถูกหล่อหลอมด้วยทัศนคติตลอดจนค่านิยมที่ผิดแผกแปลกแยกจากผู้คน 

มองศิลป์: Dichotomy มุมมองของศิลปินชาวอเมริกันที่มีต่อผู้คนรอบข้าง โดยการเปลี่ยนบุคลิกลักษณะของบุคคลเข้ากับลักษณะเด่นๆ ของสัตว์ประเภทต่างๆ


อัมรินทร์ บุพศิริ จิตรกรเจ้าของผลงานนิทรรศการ Alone สะท้อนความเปลี่ยวเหงาของหญิงสาววัยรุ่นในสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป

อัมรินทร์ บุพศิริ จบการศึกษาศิลปะบัณฑิต จากคณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ จากมหาวิทยาลัยศิลปากร และกำลังศึกษา ศิลปะมหาบัณฑิต คณะจิตรกรรมประติมากรร และภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เคยแสดงนิทรรศการชุด Imitation: นักเรียน ซึ่งนำเสนอเรื่องราวของภาพเด็กหญิงวัย (ก่อน) เจริญพันธุ์ เช่นภาพของนักเรียนสาวที่กำลังบรรจงเสริมความงามให้กับใบหน้าตัวเอง จนทำให้เขาได้รับชื่อเสียงมาแล้วในนิทรรศการเดี่ยวครั้งแรกเมื่อปี 2552

สำหรับ นิทรรศการศิลปะ Alone ในครั้งนี้ เขาเข้าไปสู่ความหมกมุ่นของหญิงสาวอีกครั้ง จากภาพถ่ายเล่นๆ ในโลกสังคมออนไลน์ที่เราจะได้เห็นใบหน้าและอิริยาบทของสาววัยรุ่นที่ถูก บันทึกไว้ด้วยตัวของเธอเอง ภาพเหล่านั้นแสดงถึงช่วงเวลาที่พวกเธออยู่ตามลำพังในห้องส่วนตัว หรือบนเตียงนอน คุณอัมรินทร์นำเอามาตีความหมายภาพในสังคมออนไลน์เหล่านั้นใหม่ กลายเป็นภาพของหญิงสาวที่มีใบหน้าขนาดใหญ่ ดวงตาสีดำแต่ไร้ความรู้สึก ในภาพลักษณ์ที่ดูทั้งน่าเอ็นดูและน่าชัง เธอกลับไม่แสดงอาการทุกข์ สุขใ แต่กลายเป็นมนุษย์เย็นชา และเปล่าเปลี่ยนในโลกสีเทาหม่นของเธอเอง



ภาพวาดสีน้ำมัน Accessories No.2 (ซ้าย) และ Accessories No.4 (ขวา) เป็นพฤติกรรรมการถ่ายภาพที่เราเห็นเสมอในสังคมออนไลน์

คุณบุษราพร ทองชัย ศิลปินและนักเขียนกล่าวในสูจิบัตรนิทรรศการ Alone ว่า “อัมรินทร์ บุพศิริได้พาเราเข้าไปสัมผัสโลกอันลึกลับของเด็กสาวกลุ่มหนึ่งซึ่งดูเหมือน จะไม่เคยเปิดประตูต้อนรับ ผู้ใดมาก่อน กระทั่งพาเราเข้าไปพบกับโฉมหน้าที่ไร้เดียงสา ช่วงเวลาซึ่งถูกทิ้งร้าง ความสับสน มืดบอด ตลอดถึงความกลวงเปล่าของชีวิตในโลกที่เรารู้จักและคุ้นเคยกับมันดี  “Alone” และงานจิตรกรรมของเขาได้ผลิตซ้ำภาพความไร้แก่นสารของกิจกรรมหนึ่งในช่วง ชีวิตของเด็กสาว”

ทว่า ความไร้แก่นสารมีเหตุจากที่ใด ถ้าไม่ใช่ความเปลี่ยนแปลงทางสังคม รูปแบบการดำเนินชีวิต การอพยพย้ายถิ่น ความอ่อนแอของสถาบันครอบครัว สถาบันการศึกษา หรือความปรวนแปรทางวัฒนธรรม ภาพของหญิงสาวให้ห้องสีเทาจึงเพียงหุ่นเชิดที่ไร้ชีวิตในสังคมแปรปรวน ปัจจุบัน 



ภาพวาดสีน้ำมัน Nightmare (ซ้าย) และ Blooming No.1 สื่ออารมณ์ “น่ารัก” และ “น่าชัง” ไปพร้อมๆ กัน

นิทรรศการศิลปะ Alone จัดแสดงที่หอศิลป์ร่วมสมัยอาร์เดล ถ. บรมราชชนนี ตั้งแต่วันที่ 26 มกราคม 2555 – 4 มีนาคม 2555 , วันอังคาร – เสาร์ เปิดตั้งแต่เวลา 10.30 – 19.00 น. วันอาทิตย์ 10.30-17.30 น. ค่าเข้าชมฟรี, โทร 02-422-2092, www.ardelgallery.com

มองศิลป์: สุภาพสตรี บู๊ระห่ำ

อิสระภาพและปัจเจกแห่งผู้หญิงยุคดิจิตอล
นิทรรศการสุภาพสตรี บู๊ระห่ำ โดยอัญชลี อารยะพงศ์พาณิชย์ นำเสนอภาพลักษณ์ของหญิงสายยุคใหม่ด้วยอารมณ์สนุกสนาน มีชีวิตชีวา มั่นใจอย่างเต็มเปี่ยม



ในสังคมเมืองหลวง เราได้เห็นบทบาทของสตรีหลากหลาย สาวนักบริหาร สาวศิลปิน สาวแฟชั่น สาวทอมบอย สาวหวาน นิทรรศการสุภาพสตรี บู๊ระห่ำ หรือ Lady Image 

โดยอัญชลี อารยะพงศ์พาณิชย์ นำเสนอภาพลักษณ์ของหญิงสายยุคใหม่ด้วยอารมณ์สนุกสนาน มีชีวิตชีวา ภายใต้บริบทของหญิงสาวที่มีเสรีภาพทางความคิด การแสดงออก และเข็มแข็งอย่างเต็มเปี่ยม


อัญชลี อารยะพงศ์พาณิชย์ ศิลปินรุ่นใหม่จากรั้วศิลปากร รับหน้าที่ในตัวละคร เพื่อแสดงภาพบทบาทของผู้หญิงในอารมณ์สนุกสนาน มีชีวิตชีวา และกล้าแสดงออก

อัญชลี อารยะพงศ์พาณิชย์ ศิลปินรุ่นใหม่จากรั้วศิลปากร ใช้ปากกากับสีน้ำสร้างงานวาดเส้นและจิตรกกรมบนกระดาษ ผลงานของเธอรวมภาพลักษณ์ของผู้หญิงที่ปรากฏในสื่อบันเทิงต่างๆ เช่น ภาพยนตร์ ละคร ตัวการ์ตูน เกมส์ แฟชั่น ผสมผสานกับจินตนาการอันเพริศแพร้วเพื่อแสดงให้เห็นถึงบทบาทและการแสดง แสดงออกแบบสุดเหวี่ยงเต็มที่ในอากัปกิริยาต่างๆ ของผู้หญิงที่มีอิสรเสรี มีชีวิตชีวา สอดแทรกลักษณะท่าทีราวนักแสดงหน้ากล้อง และแฝงอารมณ์ขันเชิงยั่วล้อ โดยมีตัวเธอเป็นผู้รับหน้าที่ตัวละครในภาพเอง

ภาพที่นำมาจัดแสดงปรากฏร่างของศิลปินในอิริยาบถที่แตกต่างแต่มี บุคลิกที่เหมือนกัน ดวงตากลมโตรวมรวมตัวการ์ตูนดึงบุคลิกภาพที่โดดเด่นของเธอขึ้นมาจากตัวตนจริง และสีหน้าที่บอกถึงความมั่นใจ อิสรภาพ ความเป็นปัจเจก และกิจกรรมในรูปแบบที่พผู้หญิงทั่วไปกล้าลอง


ผล งานชื่อโบ๊ะ ภาพที่ได้รับอิทธิพลจากวัฒนธรรมญีปุ่น ที่แสดงให้เห็นว่าหญิงสาวกำลังเลียนแบบการแต่งหน้าแต่งกายให้เหมือนกับสาว สมัยเอโดะ


ภาพสาวน้อยชาวญี่ปุ่นในภาพ “แม่บ้าน” ซึ่งแสดงให้เห็นตัวศิลปินในชุดผ้ากันเปื้อนสีขาว มีลูกไม้คาดผมประดับ ดวงตาใสแจ๋วน่ารักแบบการ์ตูนญี่ปุ่นที่เราคุ้นชิน กิริยาอาการคล้ายการแต่งกายเลียนแบบตัวการ์ตูนที่เด็กสาวจำนวนมากชื่นชอบ บ่งชี้ความหมายทั้งในแง่มุมของค่านิยมเชิงภาพลักษณ์ในวัยรุ่นหนุ่มสาว และอิสรภาพของการแสดงออกในบทบาทที่ตนเองปรารถนา ส่วนอีกภาพหนึ่งที่ได้รับอิทธิพลจากวัฒนธรรมและสังคมญี่ปุ่นด้วยก็คือ ภาพ “โบ๊ะ” ที่มีหญิงสาวในชุดกิโมโนกำลังประแป้งแต่งองค์อยู่หน้ากระจกเงา ทรงผมแบบญี่ปุ่นที่ประดับประดาด้วยหวีและปิ่นปักผม ดวงตากรีดเฉียง แก้มขาวลออ ริมฝีปากแดงสด แสดงให้เห็นแนวคิดของความพยายามที่จะสวมบทบาทสาวน้อยสไตล์เอโดะอย่างตั้งอก ตั้งใจ


ผลงานชื่อ Maid (ซ้าย) และ ไปโรงเรียน (ซ้าย) เทคนิคสีน้ำมันบนผ้าใบ

บทบาทของผู้หญิงที่อัญชลีแสดงให้เห็นในผลงาน ถือเป็นอีกหนึ่งแง่มุมเชิงบวกที่ศิลปินหญิงคนหนึ่งมีต่อตนเองและภาวะแห่งเพศ สภาพสตรี ความมีเสรีต่อการแสดงออก การแต่งกาย สร้างสรรค์บุคลิกภาพส่วนตนโดยปราศจากกรอบกฎพันธนาการ และสื่อเสนอความเป็นจริงของความคิดกับความรู้สึกภายในให้ปรากฏขึ้นมาเป็นผล งานศิลปะอันเต็มไปด้วยอัตลักษณ์ในเส้นสีฝีแปรง การตัดทอนบิดเอียงรูปร่างรูปทรง ขับเน้นเรื่องราวเนื้อหาด้วยสีสันสดสว่างท่ามกลางฉากหลังสลัวรางในภาพ ล้วนให้ทิศทางความหมายทั้งในเชิงเสียดสีแบบมีอารมณ์ขัน การยั่วล้อหยอกเอิน และการแสดงตัวตนอย่างเสรีของศิลปินหญิงสาวอีกหนึ่งคน

นิทรรศการศิลปะ สุภาพสตรี บู๊ระห่ำ (Lady Image) จัดแสดงที่หอศิลป์ร่วมสมัยอาร์เดล ถ. บรมราชชนนี ตั้งแต่วันที่ 26 มกราคม 2555 – 4 มีนาคม 2555 , วันอังคาร – เสาร์ เปิดตั้งแต่เวลา 10.30 – 19.00 น. วันอาทิตย์ 10.30-17.30 น. ค่าเข้าชมฟรี, โทร 02-422-2092, www.ardelgallery.com

วันพุธที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2555



หลังเปิดให้เข้าชมอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม ที่ผ่านมา สำหรับ “พิพิธภัณฑ์ร่างกายมนุษย์” 1 ใน 11 พิพิธภัณฑ์ของโลก และเป็นแห่งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้รับความสนใจจากผู้คนจำนวนมาก
จุดเริ่มต้น “พิพิธภัณฑ์ร่างกายมนุษย์” ในประเทศไทย ถือกำเนิดขึ้นจากการสนับสนุนของของคุณคัทสุมิ คาตามูระ ประธานบริษัทเมดิคัลด็อกเตอร์ซอฟท์เฮาส์ จำกัด ภายใต้การแนะนำของ ศ.คัชสุฮิโร เอะโตะ อดีตคณบดีคณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยแพทย์และทันตแพทย์แห่งโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งได้บริจาคร่างกายและชิ้นส่วนอวัยวะของมนุษย์ให้แก่จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย จำนวน 131 ชิ้น มูลค่ากว่า 100 ล้านบาท มายังคณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

“พิพิธภัณฑ์ร่างกายมนุษย์” จัดแสดงการรักษาสภาพร่างกายหรือชิ้นส่วนอวัยวะของมนุษย์ที่เสียชีวิต โดยใช้พลาสติกเหลวเข้ามาแทนที่น้ำและไขมันในเนื้อเยื่อ ทำให้ไม่มีกลิ่นเหม็นของน้ำยา ไม่มีการเน่าสลาย และคงสภาพอยู่ได้นาน ภายใต้เทคนิคที่เรียกว่า  Plastinated human bodies ที่เริ่มจากการนำร่างกายที่เสียชีวิตในทันทีไปแช่น้ำยาฟอร์มาลีน ทิ้งไว้เป็นระยะเวลา 1 ปี เมื่อครบกำหนด ก็มีการนำร่างที่เสียชีวิตไปแช่น้ำยา Acetonebath ซึ่งเป็นน้ำยาที่ดูดเอาน้ำต่างๆในร่างกายออกจนหมด จากนั้นก็เข้าสู่กระบวนการแช่ลงในพลาสติกเหลว เพื่อคงสภาพร่างกายไว้ไม่ให้เน่าเปื่อย
ภายในพิพิธภัณฑ์ จัดแสดงร่างกายและชิ้นส่วนของมนุษย์เป็นหมวดหมู่ ประกอบด้วย ร่างกายมนุษย์แบบเต็มร่าง จำนวน 13 ชุด ชิ้นส่วนอวัยวะภายใน จำนวน 50 ชิ้น ชิ้นส่วนอวัยวะ จำนวน 27 ชิ้น ชิ้นส่วนกล้ามเนื้อ จำนวน 23 ชิ้น ร่างกายมนุษย์ตัดแบ่งย่อย จำนวน 6 ชุด ชิ้นหล่อแสดงระบบหลอดเลือด จำนวน 5 ชิ้น และร่างกายทารกในครรภ์ จำนวน 7 ชุด
อ.ทญ.ดร.พิไลพร วิวัฒน์บุตรสิริ กรรมการพิพิธภัณฑ์ร่างกายมนุษย์ เผยขณะพาเข้าเยี่ยมชมว่า การได้ร่วมศึกษาอาจารย์ใหญ่ภายในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ จะทำให้ทุกคนเห็นถึงความสัมพันธ์ของอวัยวะต่างๆชัดเจน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับนิสิต-นักศึกษาแพทย์ที่จากเดิมศึกษาอาจารย์ใหญ่ (ไดเส็ก) เพียงแค่ร่างกายที่นอนราบไปกับเตียง แต่ในพิพิธภัณฑ์นี้ ร่างกายไร้ลมหายใจที่นำมาจัดแสดง มีการจำแนกชิ้นส่วนอวัยวะ กล้ามเนื้อต่างๆออกมาอย่างเห็นได้ชัด ในลักษณะ 3 มิติ ซึ่งจะทำให้เกิดความรู้ ความเข้าใจระบบการทำงานต่างๆ
ในอีกแง่ สำหรับคนทั่วไป นอกจากจะได้รับความรู้ระบบการทำงานต่างๆแล้วเมื่อเข้าชมแล้ว หลายคนบอกว่า ทำให้รู้สึกปลงว่าชีวิตคนเราก็มีเท่านี้ เมื่อได้เห็นการลอกชิ้นส่วนเนื้อเยื่อต่างๆ ก็จะรู้ว่ากลไกลในร่างกายนั้นทำงานอย่างไร นับเป็นประโยชน์มากๆ ที่จะทำให้ทราบทันที เมื่อมีอาการเจ็บป่วย ว่าสาเหตุที่แท้จริงต่างๆเป็นเพราะความผิดปกติจากอวัยวะใด
ผู้สนใจสามารถเข้าเยี่ยมชม “พิพิธภัณฑ์ร่างกายมนุษย์” ได้ที่ห้อง 909-910 ชั้น 9 อาคารทันตแพทยศาสตร์ เฉลิมนวมราช 80  คณะทันตแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  เปิดให้เข้าชมทุกวันพุธ และศุกร์  ระหว่างเวลา 12.30 -18.30 น.  โดยจะเปิดให้เข้าชมฟรีถึงวันที่ 30 กันยายนนี้
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ : ประชาสัมพันธ์ คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โทร : 0-2218-8635
หมายเหตุ - ขอสงวนสิทธิในการบันทึกภาพทุกชนิด เพื่อเป็นการเคารพและให้เกียรติอาจารย์ใหญ่ทุกท่านที่จัดแสดงภายในนี้

วันอังคารที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2555



นิทรรศการ “Burning Sunlight: เมล็ดพันธุ์แห่งชีวิต” นำเสนอผลงานประติมากรรมสื่อผสมซึ่งสร้างสรรค์จากวัสดุอันแตกต่างหลากหลาย ทั้งในรูปแบบของรูปทรงธรรมชาติและรูปทรงของวัตถุที่มนุษย์ประดิษฐ์ขึ้น

ภายใต้แนวความคิดเกี่ยวกับการดำรงอยู่ของชีวิตที่จำเป็นต้องพบเผชิญกับ เรื่องราวของอุปสรรคขวางหนาม ความสุข ความทุกข์ รวมถึงความปรารถนาต้องการในแง่มุมต่างๆ มากมายทั้งร้ายดี เสมือนหนึ่งปรากฏการณ์ที่หล่อหลอมจากประสบการณ์ส่วนตนของศิลปินมากความ สามารถ อนุรักษ์ ตั้งสมบูรณ์





นิทรรศการ  :  Burning Sunlight:เมล็ดพันธุ์แห่งชีวิต
ศิลปิน :  อนุรักษ์ ตั้งสมบูรณ์
วันที่ :  23 สิงหาคม – 30 กันยายน 2555
สถานที่ : หอศิลป์ร่วมสมัยอาร์เดล (ถนนบรมราชชนนี)
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมโทร : 0-2422-2092, 08-4772-2887
แฟกซ์: 0-2422-2091
รายละเอียดเพิ่มเติมเว็บไซต์ : http://www.ardelgallery.com


นัมเบอร์วันแกลเลอรี่ยินดีนำเสนอ “ อย่าคะยั้นคะยอหมี (คนเต็มใจ) ”หากไม่นับการแสดงงานของศิลปินนัมเบอร์วันแกลเลอรี่ ในงานเทศกาลศิลปะ Art Expo MalaysiaและArt Taipei 2011ที่ มาเลเชียและประเทศไต้หวันแล้ว..ครั้งนี้นับเป็นการแสดงเดี่ยวครั้งที่สามของ องอาจ และแน่นอนว่างานครั้งนี้เนื้อหาและแนวคิดเข้มขึ้น

การคิดแทนผู้อื่นจะปิดกั้นการรับรู้ความจริง อันเป็นการคิดแทนตนเองโดยกระบวนการแปลผลด้วยความเคยชิน นิทรรศการศิลปะ “อย่าคะยั้นคะยอหมี (คนเต็มใจ) ขององอาจ โล่ห์อมรปักษิณ เป็นผลงานจิตรกรรมที่สะท้อนความคิดทางสังคมวิทยา มานุษยวิทยา และปรัชญา เป็นภาวะแห่งการพัฒนาตน รู้ตน ผิดพลาด รู้ทัน รู้ไม่ทัน ปรับปรุง


องอาจ เสนอความสัมพันธ์ระหว่างสองสิ่งคือสองสิ่งหรือหนึ่งสิ่ง เขาเชื่อว่า การตีความภายในต่อสิ่งรับรู้มีผลต่อความเป็นไปอย่างยิ่งต่อการเป็นเราใน ปัจจุบัน  นัมเบอร์วันแกลอรี่และศิลปิน ขอเชิญชวนท่านที่มีความสนใจ เข้าร่วมชมผลงานศิลปะ “อย่าคะยั้นคะยอหมี (คนเต็มใจ)
พิธีเปิด  16 สิงหาคม 2555  เวลา  17.00 น.

นิทรรศการ :อย่าคะยั้นคะยอหมี (คนเต็มใจ) No use importuning bear to be the bearer.(It’s the willing of man)
ศิลปิน :  องอาจ  โล่ห์อมรปักษิณ (Ong-arj Loeamornpagsin)
วันที่ : 16 สิงหาคม 2555  – 15  กันยายน 2555
สถานที่ : นัมเบอร์วันแกลเลอรี่
สามารถดาวน์โหลดไฟล์ขนาดใหญ่ได้ที่ : http://www.number1gallery.com/New2012/ Ong-arj /work.html
รายละเอียดเพิ่มเติมกรุณาติดต่อคุณกรกต ศรีดี  โทร : (083) 445 8333, (02) 630 2523