จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

วันพฤหัสบดีที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2555



จากจุดเริ่มต้นเมื่อ 12 ปีผ่านมา งานศิลปะที่ผมรักได้ถูกรังสรรอย่างต่อเนื่อง หลังจากหยุดไปกว่า 20 ปี บนผืนผ้าใบ กระดาษ สลับสับเปลี่ยนเทคนิค เส้นสี และทีแปรง ด้วยความสุข และสนุกสนาน  โดยเน้นเรื่องราวเกี่ยวกับ วิถีชีวิต ธรรมชาติอันประทับใจในการถ่ายทอด





นิทรรศการ : “12 ปีแห่งความสุข..ความทรงจำ” (“12 Years of joyful memories” 2000-2012)
ศิลปิน : วัฒนา  พูลเจริญ
วันที่ : 18 กันยายน – 2 ตุลาคม 2555
สถานที่ : ห้องนิทรรศการชั้น 1 ห้อง 3 – 4 หอศิลป์จามจุรี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

วันพุธที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2555



โรงแรมอิมพีเรียลควีนส์ปาร์ค ร่วมกับ อ.ชัยฤทธิ์ ศรีสง่าสมบูรณ์ และ บริษัท แอปด้ากรุ๊ป จำกัด   ขอเชิญชมงานแสดงนิทรรศการจิตรกรรมสีน้ำ ชุด “วันเวลากับสีน้ำ”

นิทรรศการจิตรกรรมฯในครั้งนี้  เป็นการนำเสนอแนวคิดจากภาพผืนน้ำที่นิ่งสงบ สายลมที่แผ่วเบา และไออุ่นของแสงแดดยามเช้าที่ตกกระทบกับกิ่งก้านใบและดอกของพืชพันธุ์นานา ชนิดทำให้เกิดสุนทรียภาพและความรู้สึกที่ประทับใจนำมาเป็นแรงบันดาลใจในการ สร้างสรรค์งานศิลปะ โดยผ่านขบวนการถ่ายทอดด้วยเทคนิคสีน้ำในแนวสัจนิยม(รีลรีสติค) อาทิ ดอกไม้ ใบไม้ สายน้ำและแสงแดด เป็นต้น






อาจารย์ชัยฤทธิ์ ศรีสง่าสมบูรณ์
โดยรายได้ส่วนหนึ่งนำสมทบทุน “มูลนิธิพระดาบส”

นิทรรศการ : “วันเวลากับสีน้ำ”
ศิลปิน : ชัยฤทธิ์ ศรีสง่าสมบูรณ์
วันที่ : 2ตุลาคม-10 พฤศจิกายน 2555
สถานที่ : โรงแรมอิมพีเรียลควีนส์ปาร์ค บริเวณล็อบบี้ของโรงแรมฯ (เวลา 10.00-20.00 น.)
สอบถามรายละเอียดโทร : 02-261-9300ต่อ 5938, 5945


ช่วงเวลาที่ผ่านมา ผู้คนสังคมโดยรวมความสุขและรอยยิ้มหายไป เราถูกบีบรัด ทั้งหน้าที่การงาน การเดินทาง การใช้ชีวิตในเมืองที่ทุกอย่างเร่งรีบ จนชีวิตขาดความเป็นส่วนตัว หาความสุขได้ยากขึ้น สภาพบ้านเมืองที่ขาดความเข้าใจซึ่งกันและกัน เศรษฐกิจที่ทุกคนต้องดิ้นรนทำให้ผมมีคำถามในใจ สิ่งที่เราทำกันอยู่นี้ คือ ความสุขหรือเปล่า ผมพยายามทำความเข้าใจกับสิ่งนี้ “ความสุข”

ผมมีสิ่งที่จะบอกเล่าให้ฟัง เรามาดูว่าความสุขที่เราเคยรับรู้มามีอะไรบ้าง ในยุคหนึ่งเคยมีนิยามของความสุข ที่หลายคนพูดว่า ความสุขที่คุณดื่มได้ เราคงไม่สงสัยว่าจริงหรือไม่จริง แต่ผมรู้ว่าความสุขชนิดนี้ เมื่อดื่มแล้วทำให้เราเดินขาปัดได้เหมือนกัน มาในยุคปัจจุบัน เห็นการขยับตัวของนิยามของความสุข ที่มีนักไอเดียคิดออกมากันมากมาย เช่น แค่เปิด…ก็สุขแล้ว  เราสุขได้ทุกวัน ทุกความสุขสำคัญเสมอ ความสุขที่ยากจะห้ามใจ ความสุขที่เราสร้างเอง และทุกความสุขยิ่งใหญ่เสมอ นี่เป็นรูปแบบที่ผมพอจะหามาเสริฟให้คุณได้รับรู้กัน  แม้แต่หน่วยงานรัฐบางหน่วยงานบอกว่าจีดีพียิ่งมากบอกถึงความมั่งคั่งของ ประเทศ
ผมชักไม่แน่ใจว่าสิ่งที่ผมบอกมาทั้งหมด เป็นความสุขจริงอย่างที่เค้าบอกหรือเปล่า เพราะสิ่งที่ผมเคยได้พูดคุยและฟังมาจากอีกกลุ่มหรืออาจเป็นชนกลุ่มน้อย  ที่มีแนวคิดต่าง เค้าบอกว่าความสุขเป็นภัยต่อทุนนิยม สิ่งที่บอกมาอาจเป็นเพราะความสุข อาจไม่ได้ขึ้นอยู่กับเงินมากมาย การมีบ้านหลังใหญ่ การที่มีที่ดินมากมายหรือการกินอาหารแพงๆความสุขอาจเกิดขึ้นจากพื้นที่เล็กๆ ภายในร่างกายของเราก็เป็นได้ สิ่งนั่นก็ คือ  หัวใจของเราเอง
ผมมานั่งทบทวนและทำความรู้จักกับความสุข บนพื้นที่นี้ให้มากขึ้น อะไรคือสิ่งที่ผมได้รับมาตลอดหลายปี ความสุขแบบไหนที่หล่อเลี้ยงหัวใจผม คำตอบคงอยู่ตรงหน้าผม งานศิลปะที่ผมทำมาตลอดเป็นความสุขที่ยิ่งใหญ่ ชีวิตเราคงปฏิเสธการทำงานไม่ได้เพราะเป็นตัวทำให้เกิดปัจจัย มาหล่อเลี้ยงชีวิต ในช่วงหนึ่งปีหรือ ๓๖๕ วัน  เราคงมีความสุขกันไม่ได้ทุกวัน และในหนึ่งวันชีวิตส่วนใหญ่ของเราอยู่กับงาน สำหรับผมงานศิลปะช่วยเติมเต็มในส่วนต่างๆของชีวิต เป็นทั้งงานที่รักเป็นศรัทธาที่ผมมีเต็มหัวใจผม ผมหวังว่างานศิลปะที่ผมได้ทำออกมา ให้ทุกท่านได้เห็นนี้ชักชวนพวกท่าน มาร่วมกันค้นหาความสุขร่วมกัน เพราะแต่ละคนมีความสุขที่แตกต่างกัน กับนิทรรศการที่มีชื่อว่า “สารแห่งความสุข : The Endorphine”
พิธีเปิดนิทรรศการ  2 พฤศจิกายน 2555  เวลา 18.00น




ศิลปิน : สนามชัย พวงระย้า


นิทรรศการ : “สารแห่งความสุข : The Endorphine”
ศิลปิน : สนามชัย พวงระย้า
วันที่ : 2 พฤศจิกายน – 18 พฤศจิกายน 2555
สถานที่ : ห้องนิทรรศการชั้น 2 หอศิลป์จามจุรี

วันเสาร์ที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2555



“Scavengers” ผลงานล่าสุดของสตีฟ เพซ ช่างภาพมากประสบการณ์ เขาได้เก็บภาพวิกฤติและความทุกข์ต่างๆ จากการเดินทาง ภาพถ่ายที่เฉพาะเจาะจงเหล่านี้ทำให้ผู้ชมมีโอกาสได้เห็นสภาพความเป็นอยู่ของ ผู้ยากไร้ทางตอนใต้ของพนมเปญ ประเทศกัมพูชา ซึ่งอาศัยอยู่ที่ Shung Meanchey Municipal แหล่งทิ้งขยะที่รู้จักกันอีกชื่อหนึ่งว่า Smoky Mountain เพราะเต็มไปด้วยควันของก๊าซมีเธนซึ่งเป็นอันตราย

ประชากรส่วนใหญ่ของพนมเปญยังคงไม่ตระหนักถึงสภาพความเป็นอยู่ที่แสนจะเลว ร้ายของพวกเขา กลุ่มคนคุ้ยกองขยะอาศัยอยู่ตามชุมชนแออัด รวมทั้งเพิงที่พักซึ่งมีค่าเช่าแพงลิบลิ่ว คนเหล่านี้มีอยู่ราว 2,000 คน เป็นเด็กราว 600 คน ประชากรเหล่านี้ถูกประเมินค่าต่ำกว่าเกินกว่าความเป็นคน ถือเป็นส่วนที่ไม่สลักสำคัญใดๆ ของระบบสังคมและเศรษฐกิจของประเทศกัมพูชา เนื่องจากไร้ซึ่งทักษะและหมดหนทางที่จะหาเลี้ยงชีพด้วยวิธีอื่น พวกเขาจึงจำต้องคุ้ยกองขยะเป็นเวลาหลายๆ ชั่วโมง ในสภาพแวดล้อมที่เลวร้ายและต้องเสี่ยงอันตรายถึงชีวิต เพื่อที่จะหาเลี้ยงตนเองและครอบครัว


ผลงานภาพถ่ายของเพซเต็มไปด้วยรายละเอียดของกราฟฟิก และถ่ายทอดอย่างตรงไปตรงมา คือความพยายามที่จะเสาะหาสิ่งที่ช่วยปลอบประโลมจิตใจในโลกอันแสนสิ้นหวัง การคุ้ยขยะคือการนำกลับมาซึ่งวัตถุดิบที่ยังใช้ได้จากกองขยะในรูปแบบที่ไม่ เป็นทางการและสื่อให้เห็นถึงหนทางแห่งการอยู่รอดของผู้ด้อยโอกาสในประเทศ กำลังพัฒนา ในหลายๆ กรณี คนยากไร้ต้องเผชิญกัับการหาผลประโยชน์อย่างไม่เป็นธรรม ถูกเลือกปฏิบัติจากกลุ่มพ่อค้าคนกลางและนโยบายของรัฐบาลทั้งในระดับท้องถิ่น และระดับประเทศ ผลงานของเพซคือการเสาะหาแนวคิดของความอยู่รอดในเงื่อนไขที่แสนจะเลวร้าย ที่ขับเคลื่อนด้วยความจำเป็นทางด้านเศรษฐกิจล้วนๆ ทุกอณูของผลงานในคอลเล็กชั่นนี้เต็มไปด้วยความจริงในโลก สิ่งที่ผู้ชมจะได้เห็นคือความเข้มแข็งอดทนอันแสนจะน่าเกรงขามของมนุษย์
นำเสนอโดย : ปันปัน นาคประเสริฐ
นิทรรศการ : Scavengers
ศิลปิน : สตีฟ เพซ
วันที่ : 3 กรกฎาคม – 31 สิงหาคม 2555
สถานที่ : อีท มี เรสเทอรองต์ (ซอยพิพัฒน์)
รายละเอียดเพิ่มเติมเว็บไซต์ : http://www.eatmerestaurant.com

วันศุกร์ที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2555



ก้อย อาร์ต แกเลอรี่ ร่วมกับ Elephant Parade นำเสนอ “The Care Parade” นิทรรศการที่รวบรวมงานประติมากรรมรูปช้างขนาด 30 และ 75 เซนติเมตร จากฝีมือการสร้างสรรค์ ของศิลปิน และนักออกแบบที่มีชื่อเสียง ซึ่งเคยร่วมจัดแสดงใน นิทรรศการ Elephant Parade ครั้งก่อนๆ

โดยมีวัตถุประสงค์สร้างความตระหนักต่อสาธารณชนถึงสถานการณ์ความรุนแรงของ ภัยคุกคามต่อชีวิตช้างในทวีปเอเชีย และเพื่อระดมเงินบริจาคเพื่อการอนุรักษ์ช้าง ในระหว่างวันที่ 27 กรกฎาคม ถึง 31 สิงหาคม ศกนี้
“Elephant Parade” ถือกำเนิดขึ้น ในฐานะองค์กรการกุศลเพื่อช่วยเหลือช้าง องค์กร “Elephant Parade” หรือพาเหรดช้าง ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2549 โดย มร. มาร์ค สไปท์ (Marc Spite) และมร. ไมค์ สไปท์ (Mike Spite) นักธุรกิจสองพ่อลูกชาวเนเธอร์แลนด์ ซึ่งเกิดความคิดที่จะจัดตั้งองค์กรเพื่อให้ความช่วยเหลือทางการเงินในการ อนุรักษ์ช้างหลังจากได้เดินทางมาพักผ่อนในประเทศไทยและได้เห็นลูกช้างโมชา ที่บาดเจ็บจากกับระเบิดที่ได้รับการรักษาอยู่ที่โรงพยาบาลช้างในจังหวัด ลำปาง ซึ่งก่อตั้งโดย โซไรดา ซาลวาลา  Elephant Parade มีวัตถุประสงค์หลักในการสร้างความตระหนักถึงภัยคุกคามและความจำเป็นในการ อนุรักษ์ช้างในทวีปเอเชีย รวมทั้งการสนับสนุนทางการเงินเพื่อการช่วยเหลือ การอนุรักษ์ช้างในแถบเอเชีย โดยการจัดนิทรรศการกลางแจ้ง หรือพาเหรดช้างขึ้นเป็นครั้งแรก โดยจัดขึ้นที่เมืองร็อตเตอร์ดัม ประเทศ เนเธอร์แลนด์ในปี 2550 และนับตั้งแต่นั้นในทุกๆ ปี Elephant Parade ก็ได้จัดพาเหรดช้างเรื่อยมาในหลายๆ เมืองที่มีชื่อเสียงทั่วโลก และมีงานประมูล “แบบจำลองช้าง” (Elephant Model) ที่จัดแสดงในงานพาเหรด เพื่อนำเงินรายได้ส่วนหนึ่งไปช่วยเหลือช้างด้วย ซึ่งแบบจำลองหรือโมเดลช้างที่ว่านี้ จะผลิตในจำนวนจำกัด และมีจำหน่ายในสาขาต่างๆ ของ Elephant Parade ทั่วโลก








สำหรับนิทรรศการ The Care Parade ในครั้งนี้ จะเป็นการจัดแสดงแบบจำลองช้างขนาด 30 และ 75 เซนติเมตร จากผลงานของศิลปินและนักออกแบบที่มีชื่อเสียงซึ่งเคยได้จัดแสดงไปแล้วใน พาเหรดช้างครั้งก่อนๆ อาทิ “Pavonia” โดย รีเบคก้า  ซูเธอร์แลนด์ (Rebecca Sutherland) ศิลปินสาวนักวาดภาพประกอบจากลอนดอน ซึ่งแบบจำลองขนาดเท่าตัวช้างจริงเคยจัดแสดงในพาเหรดช้างที่สิงคโปร์ โดย รีเบคก้า อยากเติมสีแต้มลายให้สวยงามราวกับช้างของพระราชา ตามมาด้วย “Colorful Hope” โดย คาโค มาร์ติน (Cako Martin) ศิลปินชาวบราซิล ซึ่งจัดแสดงในพาเหรดช้างที่กรุงลอนดอน โดยได้รับแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์จากรูปทรงธรรมชาติและวัฒนธรรมข้างถนน และ “Siam Butterfly” แบบจำลองช้างขนาด 75 เซนติเมตร โดย ทองไมย์ เทพราม ศิลปินไทยในสังกัด ก้อย อาร์ต แกเลอรี่ ที่ได้รับเลือกให้ร่วมแสดงในพาเหรดช้าง ซึ่งจะจัดขึ้นที่เบลเยียมช่วงปลายปี ซึ่งสร้างสรรค์ผลงานโดยการผสมผสานวัฒนธรรมตะวันออกเข้ากับตะวันตก เพื่อสื่อให้เห็นถึงลมหายใจของช้างที่อวลด้วยกลิ่นหอมหวานจากธรรมชาติ ฯลฯ นอกจากนี้ ในวันเปิดนิทรรศการ จะมีการเปิดประมูลแบบจำลองช้างน้อยโมชา (Mosha) ขนาด 75 เซนติเมตร ในราคาเริ่มต้นที่ 70,000 บาท โดยรายได้จากการประมูลจะมอบให้มูลนิธิเพื่อนช้าง เพื่อช่วยเหลือการดำเนินการของโรงพยาบาลช้าง จังหวัดลำปาง

นิทรรศการ “The Care Parade” จัดแสดง ณ ก้อย อาร์ต แกเลอรี่ 43/12 ซอยสุขุมวิท 31 (ซอยสวัสดี) เขตวัฒนา กรุงเทพฯ ระหว่างวันที่ 27 กรกฎาคม – 31 สิงหาคม 2555 เวลา 11.00 – 19.00 น. สนใจเป็นเจ้าของแบบจำลองช้างขนาด 30 และ 75 เซนติเมตรพร้อมสนับสนุนการอนุรักษ์ช้าง สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมโทร : 02 662 3218

นายก่อศักดิ์ ไชยรัศมีศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซี.พี.เซเว่นอีเลฟเว่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่ากลุ่มบริษัทในเครือบมจ.ซี.พี.เซเว่นอีเลฟเว่น มีนโยบายและความตั้งใจที่จะส่งเสริมและเป็นกำลังใจให้แก่ศิลปินไทยผู้ผลิตผลงานศิลปะทุกแขนง ซึ่งที่ผ่านมาได้ให้การสนับสนุนงานด้านวรรณศิลป์เช่นการจัดประกวดหนังสือดีเด่นรางวัล “เซเว่นบุ๊คอวอร์ด”, โครงการโรงเรียนรักการอ่าน, โครงการกล้าวรรณกรรม
และ ค่ายถอดรหัสนักวาดการ์ตูนในฝัน รวมทั้งโครงการอื่นๆอีกมากมายซึ่งก็ได้รับความสนใจจากศิลปินหลายท่านได้เข้ามาให้การสนับสนุน
“โดยเฉพาะในงานด้านจิตรกรรมนับว่าเป็นงานศิลป์อีกแขนงหนึ่งที่อยู่ในความสนใจของประชาชน บริษัทฯจึงได้ริเริ่มดำเนินการเปิด “หอศิลป์เซเว่นรังสรรค์ (C.P.Seven Art Gallery)”  ขึ้น เพื่อใช้เป็นพื้นที่แสดงผลงานทางศิลปะโดยฝีมือของคนไทยให้เป็นที่ประจักษ์และปรากฏแก่สายตาบุคคลทั่วไป และต้องการให้สังคมโดยรวมมีความภาคภูมิใจว่าศิลปินไทยมีความสามารถและฝีมือไม่ด้อยไปกว่าศิลปินต่างชาติ ในขณะเดียวกันมุ่งหวังให้เป็นศูนย์กลางของศิลปินในหลายแขนงให้มีสถานที่ในการนำเสนอผลงานด้านศิลปะ”
หอศิลป์เซเว่นรังสรรค์
ที่อยู่ : อาคารธาราสาธร ชั้น 1 เลขที่ 119 ซอยสาธร 5
ถนนสาทรใต้ แขวงทุ่งมหาเมฆ  เขตสาธร กรุงเทพฯ  10120
ติดต่อโทร : 02-638-2315


หมู่บ้านศิลปินหัวหิน ก่อตั้งขึ้น โดยมี คุณชุมพล ดอนสกุล นักสะสมผลงานศิลปะร่วมกับศิลปิน ทวี เกษางาม ทั้งสองได้ร่วมสานอุดมการณ์แห่งความรักที่มีต่องานศิลป์อย่างสุดใจ บังเกิด แกลเลอรี่ศิลปะในป่าหัวหินฝั่งตะวันตก เน้นบรรยากาศที่เป็นกันเอง ผ่อนคลาย และเสริมสร้างความสุขสำหรับผู้เข้าเยี่ยมชม
ปัจจุบันมีศิลปินในกลุ่มร่วม 19 ชีวิต ปฏิบัติงานสร้างสรรค์ผลงานศิลปะในรูปแบบเฉพาะตัวของแต่ละคน โดยมีสตูดิโอของแต่ละศิลปินปลูกสร้างอย่างเรียบง่าย แฝงตัวในเนื้อที่ รวม 9 ไร่ ศิลปินกลุ่มนี้ได้รังสรรค์ผลงานออกสู่สาธารณะชนอย่างสม่ำเสมอ จนเป็นที่รู้จักกันดี ในนาม กลุ่มศิลปินเมืองหัวหิน ( HUAHIN ARTIST GROUP )

 ด้วยหอศิลป์บ้านศิลปินหัวหิน ตำบลหินเหล็กไฟ อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นศูนย์รวมศิลปกรรมระดับประเทศ มีความหลากหลายในด้านรูปแบบทางศิลปกรรม มีคุณค่าหาชมได้ยากยิ่ง อีกทั้งยังเป็นสถานที่ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนจัดนิทรรศการแสดงผลงานทางศิลปะของเหล่าศิลปินระดับประเทศ ดังนั้น จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จึงประกาศ ยกฐานะ หมู่บ้านศิลปินหัวหินขึ้น เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางด้านศิลปวัฒนธรรมประจำจังหวัด ตั้งแต่ปี พ.ศ.2550 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน
หมู่บ้านศิลปินหัวหิน ศิลปะวนาสถาน
•หอศิลป์แสดงผลงานศิลปะ จัดแสดงผลงานศิลปินชั้นครูที่หาชมได้ยากยิ่งและส่วนศิลปะร่วมสมัยของศิลปินปัจจุบัน
•ที่พำนักและสตูดิโอสร้างสรรค์ผลงานศิลปะ ของเหล่าศิลปินกลุ่มเมืองหัวหิน•บ้านดินแสดงผลงานประติมากรรมดินเผา โดยนายดีและแม่องุ่น
•บ้านวาดเขียน สอนวาดภาพสร้างสุขในใจได้ทั้งครอบครัว โดยครูนาง
เข้าชมฟรี โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
ที่อยู่ : เลขที่ 81 หมู่ 14 ตำบลหินเหล็กไฟ อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ 77110
เวลาทำการ : 10.00 – 17.00 น. (ปิดทุกวันจันทร์)
โทรศัพท์/โทรสาร : 032-534830,087-1673895
อีเมล์ baansillapinhuahin@yahoo.co.th

กรุงเทพมหานคร (กทม.) โดยสำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว และหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร  จัดนิทรรศการ “ไทยเท่ จากท้องถิ่นสู่อินเตอร์” ศิลปะในสมัยรัชกาลที่ ๙  ให้เป็นนิทรรศการครั้งสำคัญที่มีความสมบูรณ์และยิ่งใหญ่ที่สุดในรอบ ๗ ทศวรรษแห่งประวัติศาสตร์ศิลปะไทย
ประกอบด้วยการจัดแสดงผลงานศิลปะของศิลปิน ที่อยู่ในสมัยรัชกาลที่ ๙ ในรูปแบบที่หลากหลาย พร้อมข้อมูลทางวิชาการที่น่าสนใจ ตลอดจนการนำเสนอลำดับเหตุการณ์ที่สำคัญทางศิลปะของไทย โดยเปรียบเทียบกับประเทศต่างๆ ทั้งในซีกโลกตะวันออกและตะวันตก เป็นบันทึกทางประวัติศาสตร์ของวงการศิลปะอันมีคุณค่า  จัดแสดงที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ระหว่างวันที่ ๓๐ สิงหาคม – ๔ พฤศจิกายน ศกนี้

นิทรรศการ “ไทยเท่ จากท้องถิ่นสู่อินเตอร์” ศิลปะในสมัยรัชกาลที่ ๙ จัดแสดงผลงานศิลปะที่โดดเด่นในรอบ ๗ ทศวรรษ มากกว่า ๓๐๐ ชิ้น จากศิลปินที่มีชื่อเสียงระดับนานาชาติและศิลปินร่วมสมัยเกือบ ๓๐๐ ท่าน ตั้งแต่บรมจารย์รุ่นอาวุโส จนถึงรุ่นปัจจุบัน อาทิ ศาสตราจารย์ ศิลป์ พีระศรี, เฟื้อ หริพิทักษ์, จิตร บัวบุศย์, สวัสดิ์  ตันติสุข, ชำเรือง วิเชียรเขตต์,ประหยัด พงษ์ดำ, เฉลิม นาคีรักษ์, อังคาร กัลยาณพงศ์, อินสนธิ์  วงศ์สาม, ดำรง วงศ์อุปราช, เหม เวชกร, ไพบูลย์ สุวรรณกูฏ, ประเทือง เอมเจริญ, ถวัลย์ ดัชนี, ม.จ.มารศีสุขุมพันธ์ บริพัตร, กมล ทัศนาญชลี, อิทธิพล ตั้งโฉลก, เดชา วราชุน, เข็มรัตน์ กองสุข, เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์, มณเฑียร บุญมา, พิษณุ ศุภนิมิตร, ถาวร โกอุดมวิทย์, ปรีชา อรชุนกะ, สุรสิทธิ์ เสาว์คง, สมชัย หัตถกิจโกศล, ประสงค์ ลือเมือง, ประทีป คชบัว, พินรี สัณฑ์พิทักษ์, กมล เผ่าสวัสดิ์, อารยา ราษฎร์จำเริญสุข, วิโรจน์ เจียมจิราวัฒน์ รวมถึง อุดมศักดิ์ กฤษณมิษ, ธวัชชัย พันธุ์สวัสดิ์, ฤกษ์ฤทธิ์ ตีระวนิช, คามิน เลิศชัยประเสริฐ, ดาว วาสิกศิริ, อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล, บุษราพร ทองชัย, อิ่มหทัย สุวัฒนศิลป์, Alex Face ฯลฯ นอกจากนี้ ยังมีศิลปินต่างชาติร่วมแสดง เช่น Niro Yogota, Theo Meier, Raden Basuki, Elizabeth Romhild และ Varsha Nair เป็นต้น
ผลงานศิลปะในนิทรรศการครั้งนี้มีทั้งงานจิตรกรรม ประติมากรรม ภาพพิมพ์ ภาพถ่าย งานจัดวาง และศิลปะแนวทดลอง จากการคัดสรรโดย ศาสตราจารย์ ดร.อภินันท์ โปษยานนท์ กรรมการมูลนิธิหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร นักวิชาการประวัติศาสตร์ศิลป์ และภัณฑารักษ์ผู้มีชื่อเสียงในระดับสากล พร้อมด้วยทีมภัณฑารักษ์ชั้นแนวหน้า คือ คุณลักขณา  คุณาวิชยานนท์, คุณเสริมคุณ คุณาวงศ์, คุณกฤติยา  กาวีวงศ์, คุณปกรณ์  กล่อมเกลี้ยง และ คุณนิกันต์ วะสีนนท์ จัดแสดงโดยแบ่งตามแนวเรื่อง (Theme) ๙ กลุ่ม ได้แก่ “การแสวงหาความเป็นไทย” ผ่านมุมมองของศิลปินที่มีความคิดเกี่ยวกับ “ความเป็นไทย”        
ที่ต้องการนำเสนอแตกต่างกันออกไปทั้งในแง่ของเนื้อหาและเทคนิค, “แรงบันดาลใจจากพุทธศาสนา″ แสดงถึงความผูกพันและความเชื่อมโยงระหว่างศิลปินกับพุทธศาสนา ทั้งในรูปแบบดั้งเดิมและศิลปะแนวใหม่ พร้อมตัวอย่างงานจิตรกรรมฝาผนังที่สำคัญในสถานที่ต่างๆจาก ๔ สกุลช่าง ที่มีความโดดเด่นในแง่มุมที่ต่างกัน, “พื้นที่ทางสังคม และการอุปถัมภ์ศิลปะ” นำเสนอเกี่ยวกับพัฒนาการของวงการศิลปะในเมืองไทย ผู้มีบทบาทสำคัญจากภาคส่วนต่างๆ ในการสนับสนุนด้วยรูปแบบและวิธีการต่างๆ ที่ทำให้งานศิลปะและผู้เกี่ยวข้องมีพื้นที่ทางสังคมมากขึ้น, “จินตนาการกับความเหนือจริง” นำเสนอผลงานศิลปะอันมีที่มาจากความลี้ลับ มายาคติ กับความคิดสร้างสรรค์และจินตนาการที่กว้างไกล ไร้ขอบเขตของศิลปิน
สำหรับแนวเรื่อง “นามธรรมและปัจเจกชน” นั้น จัดแสดงผลงานแนวนามธรรม ที่ศิลปินแต่ละท่านมีแนวคิดและความตั้งใจที่ชัดเจนในการสื่อถึงเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ด้วยรูปแบบ สีสัน ลายเส้น   ตลอดจนการใช้วัสดุที่สะท้อนความเป็นตัวตนหรือเอกลักษณ์ของศิลปิน โดยผู้ชมสามารถตีความได้อย่างอิสระตามทัศนะที่แตกต่าง, “การต่อสู้ทางการเมืองและสังคม” เป็นการแสดงออกถึงความรู้สึกนึกคิดของศิลปินเกี่ยวกับมุมมองทางด้านสังคมและการเมืองของไทย ในช่วงปี พ.ศ. ๒๕๑๖-๒๕๑๙ จนถึงปัจจุบัน โดยมีรูปแบบและประเภทของผลงานที่หลากหลาย
“เพศสภาพและความเป็นชายขอบ” เป็นการสร้างสรรค์ที่ไม่ค่อยมีการกล่าวถึง  เป็นการนำเสนอเรื่องเกี่ยวกับเพศ และบุคคลหรือกลุ่มคนซึ่งไม่ค่อยได้รับความสนใจ ซึ่งศิลปินบางกลุ่มจัดว่าคนเหล่านั้นอยู่ในพื้นที่ชายขอบของสังคม เช่น เพศที่ ๓  โดยศิลปินได้ถ่ายทอดความคิดที่มีต่อเรื่องดังกล่าวอย่างน่าสนใจ หรือใช้สัญลักษณ์ที่สื่อถึงเพศในการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะอย่างมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว, “จากท้องถิ่น สู่อินเตอร์” จัดแสดงผลงานของศิลปินไทยที่สร้างชื่อเสียงในระดับนานาชาติ จากการส่งผลงานเข้าร่วมประกวด และได้รับรางวัลต่างๆ หรือจากการได้รับเชิญให้ร่วมจัดแสดงผลงานที่ต่างประเทศ โดยผลงานบางชิ้นมีแนวคิดหรือการใช้วัสดุแบบพื้นบ้าน แต่มีเทคนิคและการนำเสนอที่ทันสมัยแบบสากล  และ “ศิลปะทดลองและสื่อทางวัฒนธรรม” เป็นแนวคิดใหม่ในการทดลองสร้างสรรค์ผลงานทางศิลปะที่มีความน่าท้าทาย ทั้งการคิดริเริ่ม การทำรูปแบบและเทคนิคการนำเสนอที่แตกต่าง วิธีการใช้สื่อหลากประเภทมาเป็นองค์ประกอบของชิ้นงานซึ่งเป็นความแปลกใหม่อย่างน่าทึ่ง
นอกจากนี้ยังมีนิทรรศการเล่าถึงประวัติศาสตร์การพัฒนาศิลปะของไทย เปรียบเทียบกับศิลปะนานาประเทศ รวมถึงนิทรรศการโปสเตอร์ศิลปะที่หาดูได้ยากกว่า ๑๐๐ แผ่น
นางทยา ทีปสุวรรณ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า นิทรรศการ “ไทยเท่ จากท้องถิ่นสู่อินเตอร์” ศิลปะในสมัยรัชกาลที่ ๙ นี้มีความเป็น “ที่สุด” ของการจัดนิทรรศการศิลปะในเมืองไทยในหลายด้าน โดยมีจำนวนและประเภทของชิ้นงานมากที่สุด  มีจำนวนศิลปินเจ้าของผลงานมากที่สุด  ใช้พื้นที่ในการจัดแสดงผลงานมากที่สุด และเป็นโอกาสดีที่สุดที่จะได้ชื่นชมงานศิลปะร่วมสมัยที่มีคุณค่าของศิลปินชั้นนำของเมืองไทย ซึ่งตามปกติอยู่ในความครอบครองขององค์กรทั้งภาครัฐและภาคเอกชน หรือเป็นของสะสมส่วนบุคคล ซึ่งไม่ค่อยได้นำออกมาจัดแสดงให้สาธารณชนได้ชม  โดยทีมภัณฑารักษ์มีบทบาทสำคัญที่ทำให้นิทรรศการนี้มีความสมบูรณ์และยิ่งใหญ่ที่สุดในรอบทศวรรษที่ผ่านมาและการจัดนิทรรศการในครั้งนี้ก็สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของกรุงเทพมหานคร ในการจัดตั้งหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เพื่อให้เป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ทางด้านศิลปะ เป็นแหล่งเผยแพร่งานด้านศิลปวัฒนธรรมแก่ประชาชนทุกเพศ ทุกวัย รวมถึงสร้างเครือข่ายศิลปินและความร่วมมือด้านศิลปะด้วย
ด้าน ศาสตราจารย์ ดร.อภินันท์ โปษยานนท์ ซึ่งให้เกียรติเป็นหัวหน้าภัณฑารักษ์ของนิทรรศการในครั้งนี้ ให้ความเห็นว่า “ผู้ที่มาชมนิทรรศการนี้ จะได้เรียนรู้ถึงประวัติศาสตร์และพัฒนาการในแง่มุมต่างๆ ของศิลปะไทยตลอดช่วง ๗ ทศวรรษในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙  ได้เห็นฝีมือของศิลปินที่มีชื่อเสียง ประทับใจกับงานศิลปกรรมที่ให้สัมผัสได้ทั้งกว้างและลึก ด้วยความหลากหลายและมีรายละเอียดมากมาย ได้เรียนรู้ถึงมิติทางความคิด ได้เห็นที่มาที่ไปจากรูปแบบดั้งเดิมสู่ความร่วมสมัย และเป็นผลงานในระดับที่ทัดเทียมกับต่างประเทศ  ทำให้เกิดความภาคภูมิใจในคนไทย ในความเป็นไทย และสร้างแรงบันดาลใจในการสืบสานและผลักดันศิลปะที่ทรงคุณค่าของไทยให้ก้าวไกลต่อไป”
นิทรรศการ “ไทยเท่ จากท้องถิ่นสู่อินเตอร์” ศิลปะในสมัยรัชกาลที่ ๙ จัดที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ชั้นที่ ๓, ๔, ๕, ๗, ๘ และ ๙  ระหว่างวันที่ ๓๐ สิงหาคม – ๔ พฤศจิกายน ๒๕๕๕ ตั้งแต่เวลา ๑๐.๐๐ – ๒๑.๐๐ น. (หยุดวันจันทร์)  นอกจากนี้ ยังมีการจัดเสวนาพูดคุยกับนักวิชาการและศิลปินที่มีชื่อเสียง เพื่อเรียนรู้แนวโน้มต่างๆ ของศิลปะไทยในจุดเปลี่ยนของช่วงเวลาสำคัญต่างๆ  โดยผู้สนใจสามารถเข้าชมงานได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย พร้อมกันนี้ กรุงเทพมหานคร โดยสำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว จะจัดทำหนังสือรวบรวมผลงานศิลปะในยุคสมัยรัชกาลที่ ๙ เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในฐานะ “อัครศิลปิน” แห่งสยามประเทศ  และเพื่อเผยแพร่องค์ความรู้ด้านศิลปะในวงกว้าง โดยนำเสนอศิลปะกับวิถีชีวิตในรูปแบบต่างๆ สะท้อนผ่านผลงานศิลปกรรมของศิลปินหลากหลายรุ่น ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๘๙ จนถึงปัจจุบัน   ซึ่งนอกจากนำเสนอความงามเชิงศิลปะและประวัติศาสตร์ศิลป์แล้ว  ยังแสดงให้เห็นถึงความเจริญของศิลปะในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในรูปแบบที่เข้าใจง่าย ด้วยบทความและเรื่องราวจากการถ่ายทอดของศิลปินและนักวิชาการระดับแนวหน้าของเมืองไทย ซึ่งจะเป็นหนังสืออ้างอิงที่สำคัญอีกเล่มหนึ่งเกี่ยวกับศิลปะสมัยใหม่และศิลปะร่วมสมัยของไทย  มีกำหนดจัดพิมพ์แล้วเสร็จภายในเดือนธันวาคมนี้  จำนวน ๑,๕๐๐ เล่ม โดยหน่วยงาน องค์กร หรือสถาบันการศึกษาที่สนใจ สามารถติดต่อขอรับหนังสือได้ที่ สำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว  กรุงเทพมหานคร
รายละเอียดเพิ่มเติมกรุณาติดต่อ  :
-ฝ่ายประชาสัมพันธ์โครงการฯ  โทร : ๐๘๙ – ๔๘๔ – ๙๘๙๔, ๐๘๖ – ๕๖๗ – ๑๖๗๗, ๐๘๑ – ๘๓๕ – ๙๕๘๕
-กองวัฒนธรรม สำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว  โทร :  ๐๒ – ๒๔๖ - ๖๑๔๔, ๐๒ – ๒๔๗ – ๒๓๓๓
-หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร โทร  :  ๐๒ – ๒๑๔ – ๖๖๓๐ – ๓๘ ต่อ ๕๒๐